การทำความเข้าใจเกี่ยวกับรายการส่วนผสมในสกินแคร์อาจดูซับซ้อนแต่เป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะส่วนผสมสามารถบอกอะไรเราได้หลายอย่าง (อ่านเพิ่มเติม: ส่วนผสมในสกินแคร์บอกอะไรเราได้บ้าง)
วันนี้ LumiLap จึงมาสรุปเป็นหัวข้อง่ายๆ เพื่อให้ทุกคนสามารถนำไปใช้กันได้ค่ะ
ทำความเข้าใจชื่อส่วนผสมแต่ละรายการ
เมื่อเราดูที่สกินแคร์เราจะเห็นรายการส่วนผสมที่ยาวมาก ซึ่งการรู้ว่าส่วนผสมแต่ละอย่างคืออะไรจะช่วยให้เราเข้าใจว่าเรากำลังใช้สารอะไรบนผิว และมันจะมีผลต่อเราอย่างไร เหมือนกับการอ่านสูตรอาหารเพื่อรู้ว่ามีอะไรอยู่ในจานของเรานั่นเอง
ชื่อของส่วนผสมมีหลักๆอยู่ 3 ประเภทด้วยกัน ได้แก่
- ชื่อ INCI (INCI Name): INCI ย่อมาจาก International Nomenclature of Cosmetic Ingredients ซึ่งเป็นเหมือนภาษาสากลสำหรับส่วนผสมที่ทุกคนทั่วโลกสามารถเข้าใจได้ ตัวอย่างเช่น “Aqua” คือชื่อ INCI ของน้ำ
- ชื่อสามัญ (Common Name): เป็นชื่อที่เราใช้ในภาษาประจำวัน เช่น “Water” แทนที่จะเป็น “Aqua”
- ชื่อจากผู้ผลิต (Manufacturer Name): ในบางครั้งบริษัทจะใช้ชื่อพิเศษสำหรับส่วนผสมที่ใช้ในผลิตภัณฑ์ เป็นชื่อที่มีลิขสิทธิ์ซึ่งตั้งให้กับส่วนผสมที่เกิดจากการผสมสารต่างๆเข้าด้วยกัน
ตัวอย่าง: “Sodium Hyaluronate” ในรายการส่วนผสม คือชื่อ INCI ของ “Hyaluronic Acid” ซึ่งเป็นชื่อสามัญ แต่ในบางแบรนด์อาจเรียกว่า “Hydroskin-HA™”
ตรวจสอบความเข้มข้นของส่วนผสมจากลำดับ
ข้อกำหนดของ FDA และ EU Cosmetics ซึ่งเป็นข้อกำหนดที่ทั่วโลกนำไปใช้ ได้กำหนดให้รายการส่วนผสมที่แสดงบนสกินแคร์ต้องเรียงลำดับตามปริมาณที่มีอยู่ในผลิตภัณฑ์ ส่วนผสมที่อยู่ในอันดับแรกจะมีปริมาณมากที่สุด และส่วนผสมที่อยู่ในอันดับสุดท้ายจะมีปริมาณน้อยที่สุด
สำหรับในประเทศไทยเราจะยึดตามข้อกำหนดจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (Thai FDA) และ ASEAN Cosmetic Directive (ACD) ซึ่งมีการใช้ข้อกำหนดของ FDA และ EU Cosmetics มาเป็นต้นแบบเช่นกัน
ดังนั้นเราจึงตรวจสอบได้คร่าวๆว่าสกินแคร์ที่เรากำลังจะซื้อควรจะมีคุณสมบัติตามที่แบรนด์กล่าวไว้หรือไม่ หากแบรนด์ระบุว่า “ให้ความชุ่มชื้น” เราควรมองหาส่วนผสมที่ให้ความชุ่มชื้น เช่น กลีเซอรีนหรือกรดไฮยาลูโรนิค ว่าอยู่ในกลุ่มส่วนผสมรายการแรกๆหรือไม่ หากส่วนผสมเหล่านี้อยู่ท้ายๆ นั่นหมายความว่ามีปริมาณน้อยในผลิตภัณฑ์และอาจไม่เป็นไปตามที่แบรนด์แจ้งไว้
อีกหนึ่งความรู้ทั่วไปคือเราใช้ส่วนผสมน้ำหอม (Fragrance) ในสกินแคร์ เพื่อเป็นตัวระบุได้ว่าส่วนผสมที่ต่อท้ายจากน้ำหอมจะเป็นส่วนผสมที่ไม่ถึง 1% (เนื่องจากข้อแนะนำในการใส่น้ำหอมในผลิตภัณฑ์แต่ละประเภท ส่วนใหญ่จะไม่เกิน 1%)
ตรวจสอบสารก่อความระคายเคืองและสารก่อภูมิแพ้
บางส่วนผสมสามารถทำให้ผิวระคายเคือง แดง หรือคันได้ โดยเฉพาะถ้าเรามีผิวแพ้ง่ายการรู้จักสารเหล่านี้จะช่วยให้หลีกเลี่ยงผลกระทบด้านลบได้
ตัวอย่างสารก่อการระคายเคือง ได้แก่
- น้ำหอม: แม้จะมีกลิ่นหอม แต่บางครั้งอาจทำให้เกิดอาการแพ้หรือระคายเคืองในบางบุคคลได้
- แอลกอฮอล์: สามารถทำให้ผิวแห้งและรู้สึกตึง
- น้ำมันหอมระเหย: แม้จะเป็นธรรมชาติ แต่บางครั้งอาจทำให้เกิดการระคายเคืองในบางบุคคลได้
หากเห็นส่วนผสมเหล่านี้ในผลิตภัณฑ์เราควรทำการ Patch testing ก่อนใช้งานจริง (Patch testing คือการทาผลิตภัณฑ์ปริมาณเล็กน้อยบนพื้นที่เล็กๆ ของผิว เพื่อตรวจสอบว่ามีปฏิกิริยาหรือไม่ก่อนที่จะใช้ทั่วใบหน้าหรือร่างกาย)
ตรวจสอบปัจจัยอื่นๆ
หลายคนอาจจะต้องการสนับสนุนเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่เป็นวีแกน เป็นมิตรกับสัตว์ หรือปลอดภัยกับปะการัง เพื่อให้ตรงความต้องการเราสามารถตรวจสอบสกินแคร์ได้ดังนี้
- ฉลาก: มองหาฉลากบนผลิตภัณฑ์ที่บอกว่า “Vegan”, “Cruelty-Free”, หรือ “Reef-Safe”
- รายการส่วนผสม: ตรวจสอบส่วนผสมที่ได้จากสัตว์ เช่น “Lanolin” (จากขนแกะ) หรือ “Beeswax” (จากผึ้ง)
การทำความเข้าใจพื้นฐานเหล่านี้เกี่ยวกับรายการส่วนผสมจะช่วยให้เราสามารถเลือกผลิตภัณฑ์ดูแลผิวได้อย่างชาญฉลาด เราจะสามารถหาสกินแคร์ตอบโจทย์ หลีกเลี่ยงสารที่อาจทำให้เกิดการระคายเคือง และเลือกผลิตภัณฑ์ที่ตรงกับค่านิยมส่วนตัวของเราได้